วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ดวงอาทิตย์ (The Sun)


          ดวงอาทิตย์ เป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้โลกที่สุด มีอายุเกือบ 5,000 ล้านปี อยู่ห่างจากโลกประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร แสงจากดวงอาทิตย์ใช้เวลาเดินทางมายังโลกเพียง 8.3 นาทีเท่านั้น พลังงานจำนวนมหาศาลในดวงอาทิตย์เป็นพลังงานนิวเคลียร์ ลึกลงไปภายในใจกลางดวงอาทิตย์ มีอุณหภูมิสูงถึง 15 ล้านองศาเซลเซียส ที่อุณหภูมินี้แก๊สไฮโดรเจนจะหลอมรวมกันเป็นฮีเลียม ซึ่งเรียกว่า ปฏิกิริยาฟิวชัน
          
โครงสร้างชั้นต่างๆ ภายในและบรรยากาศของดวงอาทิตย์

          บริเวณพื้นผิวของดวงอาทิตย์จะเป็นชั้นที่ส่องสว่าง เรียกชั้นนี้ว่า โฟโตสเฟียร์ (Photosphere) กล่าวอีกนัยหนึ่งเมื่อเรามองดวงอาทิตย์ ก็คือเรากำลังมองแสงจากชั้นโฟโตสเฟียร์นั่นเอง ชั้นนี้มีอุณหภูมิสูงถึง 5,500 องศาเซลเซียส ถัดจากชั้นโฟโตสเฟียร์ขึ้นมาจะเป็นชั้นโครโมสเฟียร์ (Chromosphere) ชั้นนี้เป็นชั้นบรรยากาศที่อุณหภูมิสูงกว่าชั้นโฟโตสเฟียร์ มีอุณหภูมิสูงประมาณ 15,000 องศาเซลเซียส ถัดมาเป็นชั้นบรรยากาศนอกสุดของดวงอาทิตย์ เรียกว่า โคโรนา (Corona) มีความส่องสว่างน้อยมากเมื่อเทียบกับชั้นโฟโตสเฟียร์ ชั้นโคโรนามีความสว่างหนึ่งในล้านขิงชั้นโฟโตสเฟียร์ อุณหภูมิโคโรนาบริเวณใกล้ผิวสูงถึงล้านองศาเซลเซียส เมื่อแก๊สจากโคโรนาหลุดลอยออกสู่อวกาศจะกลายเป็นลมสุริยะที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมาก

ลมสุริยะ (Solar Wind) คือ อนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าที่เคลื่อนที่ออกมาจากดวงอาทิตย์ 
และเคลื่อนที่ไปในอวกาศ ซึ่งอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้านี้เกิดจากการระเบิดจ้าและจุดบนดวงอาทิตย์

          ปรากฏการณ์แสงบนฟ้าบริเวณขั้วโลก
          เมื่ออนุภาคที่หลุดออกจากดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ผ่านโลก จะทำให้บรรยากาศชั้นบนของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยทำให้บรรยากาศเกิดการเรืองแสง เรียกว่า (Aurora) หรือแสงเหนือแสงใต้ ส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้

แสงออโรลา (Aurora)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น